บทที่ 5

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

กับการแพทย์แผนปัจจุบัน

ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียร

การศึกษาแพทย์สมัยใหม่ในประเทศไทยเริ่มต้นหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงศิริราชพยาบาลเมื่อ พ.. 2431 การศึกษาวิชาแพทย์เริ่มต้นก่อนวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์อื่น ๆ เมื่อตั้งโรงเรียนแพทยากรและเปิดสอนวิชาแพทย์วันแรกเมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.. 2433 หลังจากนั้นแล้วจึงตั้งโรงเรียนพยาบาลและผดุงครรภ์ เมื่อ พ.. 2439 ตั้งโรงเรียนแพทย์ปรุงยา พ.. 2457 ทางด้านการรักษาพยาบาลและการป้องกันโรคมีการตั้งกรมพยาบาล ต่อมามีกรมสุขาภิบาลในกระทรวงนครบาลและกรมประชาภิบาล ในกระทรวงมหาดไทย จนถึง พ.. 2461 จึงรวม 2 กรมนี้เป็นกรมสาธารณสุข

การพัฒนาการศึกษาแพทย์เป็นไปอย่างช้า ๆ เริ่มต้นหลักสูตรแพทย์หลักสูตรแรกใช้เวลาเรียนเพียง 3 ปี พ.. 2443 ได้รับพระราชทานชื่อโรงเรียนแพทย์ว่าโรงเรียนราชแพทยาลัย.. 2446 จึงขยายเวลาเรียนเป็น 4 ปี พ.. 2456 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นไชยนาท-นเรนทร ทรงเป็นผู้บัญชาการราชแพทยาลัย ทรงเพิ่มหลักสูตรเป็น 5 ปี รับนักเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 (แผนการศึกษาของชาติในเวลานั้น) เข้ามาเรียน ทรงเพิ่มมาตรฐานการเรียนการสอนขึ้น โดยทรงหาครูแพทย์ที่มีคุณวุฒิสูงมาสอน แต่กรมหมื่นไชยนาทนเรนทร ทรงคิดว่าลำพังพระองค์ท่านองค์เดียวไม่อาจพัฒนาการศึกษาแพทย์ให้ดีขึ้นได้ จึงทรงกราบทูลขอให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดล-อดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงช่วยพัฒนาการศึกษาแพทย์

.. 2459 เมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงรับที่จะช่วยพัฒนาการศึกษาแพทย์แล้ว พระองค์ท่านจึงกราบบังคมทูลลาออกจากกองทัพเรือและขอพระบรมราชานุญาตเสด็จไปทรงศึกษาวิชาสาธารณสุขศาสตร์และวิชาแพทยศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกา พร้อมกันนั้นก็ทรงวางแผนที่จะพัฒนาโรงเรียนแพทย์ด้วยการสร้างครูเป็นลำดับแรก เริ่มโดยประทานทุนส่วนพระองค์ให้นายนิตย์ เปาเวทย์ และนายลิ ศรีพยัตต์ นักเรียนแพทย์ไปเรียน

 

294 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

แพทย์ปริญญาที่ออลบานี ขอทุนพระราชมารดาและพระเชษฐภคินี ให้นักเรียนพยาบาล คือนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ และนางสาวอุบล ปาลกะวงศ์ฯ ไปเรียนพยาบาลที่บอสตัน พ.. 2463 ประทานเงินจำนวนสองแสนบาท ให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อส่งคนไปเรียนวิทยาศาสตร์ แล้วประทานเงินส่วนพระองค์เพื่อพัฒนาโรงพยาบาลศิริราช เป็นลำดับต่อมา

ในช่วงเวลาที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงเริ่มเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และให้โรงเรียนราชแพทยาลัยเป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์เข้ามาสำรวจและทำการป้องกันโรคพยาธิปากขอ เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ พบว่าต้องช่วยให้การศึกษาแพทย์ของประเทศไทยดีขึ้น การทำการป้องกันโรคต่าง ๆ จึงจะได้ผลดี หัวหน้าโครงการป้องกันโรคพยาธิปากขอจึงขอให้รัฐบาลไทยส่งจดหมายเชิญให้มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์เข้ามาช่วยปรับปรุงการศึกษาแพทย์ของประเทศไทย

มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ส่งประธานแผนกแพทยศาสตร์ศึกษาของมูลนิธิฯ เข้ามาประเทศไทยเพื่อศึกษาสภาวะการศึกษาแพทย์ของประเทศไทยในเวลานั้น และวางแผนการที่จะช่วยไทย ดร.เพียร์ส ประธานแผนกแพทยศาสตร์ศึกษารายงานว่าโรงเรียนแพทย์ที่ศิริราชเป็นโรงเรียนแพทย์ที่มีมาตรฐานต่ำที่สุดในโลก หลักสูตรสับสน วิชาที่ควรสอนทีหลังก็มาสอนก่อน บางวิชาควรสอนจบในปีแรกก็สอนยืดเยื้อมาถึงปีหลัง เพราะสอนตามแต่จะหาครูได้ฯลฯ สรุปแล้วมูลนิธิฯ ขอช่วยประเทศไทยโดยการร่วมมือกันทำงานพัฒนาการศึกษาแพทย์ให้สูงเท่ามาตรฐานการศึกษาแพทย์ในสหรัฐอเมริกา มูลนิธิฯ เสนอวิธีการพัฒนามา 11 ข้อ โดยจะส่งศาสตราจารย์ชาวต่างประเทศเข้ามา 6 คน เพื่อจัดหลักสูตร และจัดการเรียนการสอนวิชาแพทย์ทุกสาขาวิชา หลักสูตรที่พัฒนาแล้วใช้เวลาเรียน 6 ปี รับนักเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 เข้าเรียน มูลนิธิฯ จะให้ทุนส่งคนไทยไปเรียนต่อที่โรงเรียนแพทย์ในสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษ เพื่อกลับมาสอนแทนศาสตราจารย์ชาวต่างประเทศ

แพทย์ที่สำเร็จตามหลักสูตรที่ปรับปรุงแล้วนี้ จะได้ปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต และได้เงินเดือนเดือนละ 160 บาท (2 เท่าของเงินเดือนแพทย์ประกาศนียบัตร) การก่อสร้างโรงพยาบาลศิริราชใหม่ให้เหมาะที่จะเป็นโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ ฝ่ายมูลนิธิฯ และรัฐบาลไทยออกเงินฝ่ายละครึ่ง มูลนิธิฯ จะจัดการสอนระดับแพทยศาสตร์ แต่ระดับเตรียมแพทย์ให้ฝ่ายไทยจัดการสอนเอง รัฐบาลไทยจะต้องอนุญาตให้มีการสอนหลังปริญญาด้วย มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์จะช่วยการศึกษาแพทย์ระดับสูงเท่านั้น การศึกษาระดับอื่น (เช่น พนักงานสุขาภิบาล แพทย์แผนไทย) เป็นเรื่องของรัฐบาลไทย ฯลฯ

ฝ่ายไทยยังลังเล ด้วยเกรงจะไม่มีงบประมาณพอ เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการจึงทูลขอร้องให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงเป็นผู้แทนฝ่ายไทย ซึ่งในขณะนั้นทรงเรียนจบแพทย์ชั้นปรีคลินิกแล้วและได้ประกาศนียบัตรสาธารณสุข พระองค์ท่านกำลังจะกลับไปเรียนแพทย์ชั้นคลินิกต่อไป สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงรับเป็นผู้แทนรัฐบาลไทย และเสด็จไปพบเจรจากับประธานมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ที่ยุโรปหลายครั้ง การเจรจาดำเนินไปด้วยดี ทรงชี้แจงเหตุขัดข้องต่าง ๆ และช่วยกันแก้เหตุขัดข้อง ทรงสัญญาว่า

 

295 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

จะแก้ปัญหาการขาดเงินทุนของรัฐบาลไทย โดยประทานเงินส่วนพระองค์ และจะทรงช่วยจัดการเรี่ยไรเงินสร้างตึกผู้ป่วย ฯลฯ ในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็ทำสัญญากันเมื่อต้นเดือนมกราคม พ.. 2466 และมีพระบรมราชโองการให้ดำเนินการตามความตกลง

สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงช่วย ดร.อาร์ เอม. เพียร์ส เลือกศาสตราจารย์ 6 คน โดยคัดเลือกจากคุณวุฒิและประวัติการเป็นครูในโรงเรียนแพทย์ สำหรับผู้จัดหลักสูตรที่เรียกวิชชาธิการ (Director of Study) นั้น ทั้งสองฝ่ายตกลงเชิญ ศ. นพ.เอ.จี. เอลลิส มาเป็นหัวหน้าแผนกพยาธิวิทยาและเป็นวิชชาธิการ ต่อมาท่านได้เป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล และเป็นอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระยะหนึ่ง ศ. นพ.เอลลิส จัดหลักสูตรแพทย์ตามมาตรฐานในเวลานั้น คือเรียนเตรียมแพทย์ 2 ปี และเรียนแพทย์ 4 ปี

เตรียมแพทย์ 2 ปี เรียนที่คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยเรียนชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ ภาษาอังกฤษ

แพทย์ 4 ปี เรียนที่คณะแพทยศาสตร์ ที่ศิริราช ดังนี้

ปีที่ 1 เรียน

1. กายวิภาคศาสตร์ แบ่งเป็น มหกายวิภาคศาสตร์ จุลกายวิภาคศาสตร์และวิทยา-เอมบริย์โอ

2. สรีรวิทยา แบ่งเป็น สรีรวิทยา และชีวเคมี

ปีที่ 2 เรียน

1. กายวิภาคของระบบประสาท และกายวิภาคศาสตร์ประยุกต์

2. เภสัชวิทยา

3. พยาธิวิทยา มีพยาธิวิทยาทั่วไป จุลชีววิทยา ปรสิตวิทยา พยาธิคลินิก

4. บทนำคลินิก อาการวิทยา กายภาพวินิจฉัย อายุรศาสตร์

5. ประวัติการแพทย์ และจรรยาแพทย์

ปีที่ 3 เรียน

1. พยาธิวิทยาของเนื้องอก

2. อายุรศาสตร์และโรคเด็ก

3. ศัลยศาสตร์ และจักษุ - โสตฯ ศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ และ Operative surgery

4. สูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา

ปีที่ 4 เรียน

1. อายุรศาสตร์ และกุมารเวชศาสตร์

2. ศัลยศาสตร์ และอีก 3 สาขา

3. สูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา

ศาสตราจารย์ของมูลนิธิฯ ทยอยกันมาถึงศิริราชตามลำดับ และจัดการสอนได้ตามที่ตกลงกันไว้ ทำให้คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลสามารถสอนนักศึกษาแพทย์ได้ดีสมบูรณ์ตามสัญญาทุกประการ

 

296 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงแนะนำให้มูลนิธิฯ ช่วยการศึกษาเตรียมแพทย์ด้วย ครั้นเริ่มการสอนเตรียมแพทย์ตามหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตไปได้ไม่นานนัก ดร.ดับบลิว. เอส. คาร์เตอร์ รองประธานฝ่ายแพทยศาสตร์ศึกษาของมูลนิธิ เข้ามาตรวจเยี่ยม และรายงานว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (.. 2466) อยู่ในภาวะเป็นตัวอ่อนในมดลูกที่อวัยวะยังไม่ครบ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นเพียงพิมพ์เขียวเท่านั้น การสอนไม่มีมาตรฐานเลยมูลนิธิฯ จึงเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้ความช่วยเหลือคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์โดยวิธีเดียวกับที่มูลนิธิฯ ช่วยโรงเรียนแพทย์ ฝ่ายไทยต้องการอยู่แล้วจึงตกลงกันได้โดยเร็ว

หลังจากที่ประเทศไทยทำสัญญากับมูลนิธิฯ แล้ว สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงเข้าเรียนแพทย์ชั้นคลินิกที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระ สกอตแลนด์ แต่อากาศที่นั่นหนาวและชื้นมาก จึงประชวรต้องหยุดเรียน และเสด็จกลับประเทศไทย ทรงเป็นอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย แล้วต่อมาทรงเป็นข้าหลวงสำรวจการศึกษาทั่วไป ทรงเป็นประธานคณะกรรมการโรงพยาบาลศิริราช ทรงช่วยหม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี จัดหลักสูตรเตรียมแพทย์ ทรงเป็นอาจารย์พิเศษในคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์

หลักสูตรเตรียมแพทย์ที่ทรงช่วยจัดใหม่เป็นดังนี้

ปีที่ 1 ชีววิทยา แบ่งเป็นชีววิทยาทั่วไป และสัตววิทยา อนินทรีย์เคมี ฟิสิกส์ ภาษาอังกฤษ ภาษาละติน

ปีที่ 2 พฤกษศาสตร์ กายวิภาคศาสตร์ของสัตว์มีกระดูกสันหลัง อินทรีย์เคมี ฟิสิกส์ ภาษาอังกฤษ ภาษาละติน วิชาเลือก ภาษาฝรั่งเศส หรือประวัติศาสตร์ร่วมสมัย

หมายเหตุ ฟิสิกส์ สาขาที่สอนคือ ความร้อน แสงเสียง แม่เหล็กไฟฟ้า กลศาสตร์

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงสอนชีววิทยาและสัตววิทยา ในปีที่ 1 และทรงสอนกายวิภาคของสัตว์มีกระดูกสันหลังและประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ในชั้นปีที่ 2

วิชาประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่ทรงจัดการสอนนั้นเป็นการสอนวิธีใหม่ มีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้นักเรียนได้มีความรู้กว้างขวาง และฝึกหาความรู้ด้วยเหตุผล ทรงเชิญนักวิชาการคนสำคัญมาช่วยสอน เช่น เชิญสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สอนประวัติศาสตร์ไทย โดยทรงขอให้สอนในสิ่งที่สอบสวนแล้วว่าเป็นจริง ศ.ยอร์ช เซเดย์ สอนเรื่องขอมและเขมร พระองค์เจ้าธานีนิวัต ทรงสอนประวัติศาสตร์สากล ดร.ฟรานสิส บี.เซย์ สอนเรื่องกิจการระหว่างประเทศ ฯลฯ ทรงพานักเรียนไปเยี่ยมชมพระบรมมหาราชวัง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยทรงอธิบายเรื่องต่าง ๆ โดยพระองค์เอง ทรงแจกหนังสือให้นักเรียนไปอ่านแล้ว นำเรื่องมาบรรยายให้เพื่อนฟัง ในการปาฐกถานั้นทรงเชิญเจ้านายชั้นผู้ใหญ่มาฟังปาฐกถาด้วย

มูลนิธิฯ ส่งศาสตราจารย์ 4 คน สำหรับมาสอนวิชาชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ และภาษาอังกฤษ

ตามสัญญา ฝ่ายไทยจะต้องสร้างตึกเรียนวิทยาศาสตร์ 1 หลัง สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงตัดสินให้สร้างตึกเรียนวิทยาศาสตร์ที่บริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ใกล้ถนนพญาไท แทนที่จะไปสร้างใกล้โรงเรียนแพทย์ที่ศิริราช เพื่อการดำรงอยู่

 

297 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

297_1_การวางท่อประปาในโรงศิริราชพยาบาล

การวางท่อประปาในโรงศิริราชพยาบาล

ที่มา : งานจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ศิริราชพยาบาล

297_2_ตึกมหิดลบำเพ็ญ

ตึกมหิดลบำเพ็ญ

 

298 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

ของมหาวิทยาลัย เพราะเมื่อ พ.. 2468 นิสิตส่วนใหญ่ของคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นนิสิตเตรียมแพทย์ ศาลาวิทยาศาสตร์นี้เป็นตึกเรียนวิทยาศาสตร์ที่สมบูรณ์ มีห้องบรรยาย 2 ห้อง ห้องเรียนปฏิบัติการ 4 ห้อง มีห้องปฏิบัติการวิจัย ตึกนี้ชาวจุฬาฯสมัยก่อนเรียกว่าตึกขาว ปัจจุบันคือตึกชีววิทยา 1

สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงเป็นนายกกรรมการโรงพยาบาลศิริราช ทรงแก้ปัญหาต่าง ๆ ในการบริหาร การบริการ และอื่น ๆ จนทำให้ ศ. นพ.เอ.จี. เอลลิส ทำงานทางวิชาการจัดการพัฒนาการศึกษาแพทย์ได้อย่างราบรื่น ทรงเป็นประธานกรรมการสร้างโรงพยาบาลศิริราช ทรงวางผังโรงพยาบาลใหม่ โดยให้สร้างตึกเป็น 2 แถว จากเหนือลงใต้ แถวละ 5 ตึก ตึกแต่ละหลัง ให้ด้านยาวของตึกหันไปทางทิศเหนือและทิศใต้ ด้านสกัด หันไปทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก เพื่อให้ลมพัดเข้าตึก แต่แสงแดดไม่เข้าหอผู้ป่วยในเวลาบ่าย ทรงให้สร้างตึกอย่างเรียบง่าย ไม่ประดับตกแต่ง ทรงวางแผนให้สร้างท่อระบายน้ำและให้ปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีก่อนปล่อยลงแม่น้ำ ทรงขอพระราชทานเงินจากพระราชมารดา สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี สร้างระบบน้ำประปาของโรงพยาบาลศิริราช โดยทำท่อน้ำทอดใต้น้ำข้ามมาจากฝั่งพระนคร ฯลฯ

ในการก่อสร้างระยะแรก สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ประทานเงินส่วนพระองค์สร้างตึกพยาธิวิทยาหลังที่ 1 ตึกผู้ป่วยศัลยกรรมชาย ซึ่งภายหลังได้รับชื่อว่ามหิดลบำเพ็ญประทานเงินค่าก่อสร้างตึกอำนวยการครึ่งหนึ่ง ทรงขอพระราชทานมรดกของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา สร้างตึกอัษฎางค์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเงินสร้างตึกตรีเพชร และตึกจุฑาธุช มูลนิธิฯ สร้างศาลาศัลยกรรม ศาลากายวิภาค-ศาสตร์และสรีรวิทยา รวมแล้วสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ประทานเงินส่วนพระองค์เพื่อสร้างโรงพยาบาลศิริราชและโรงเรียนพยาบาลจำนวนถึง 378,997 บาท คิดเป็นประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ของค่าพัฒนาโรงพยาบาลศิริราชให้เหมาะจะเป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และยังประทานทุนการศึกษาในต่างประเทศสาขาต่าง ๆ ให้นักเรียนทุนของพระองค์ท่านอีกประมาณ 20 ทุน

ในการปรับปรุงการศึกษาแพทย์นั้น มีแพทย์ที่เป็นอาจารย์อยู่แล้วได้รับทุนมูลนิธิฯ เรียนต่อ โดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงเป็นประธานกรรมการคัดเลือก ทรงพิจารณาความเหมาะสมทั้งคุณสมบัติ ความสามารถ ประวัติการศึกษาในบางวิชา เช่น กายวิภาคศาสตร์ ระยะแรกหาคนไม่ได้ ทรงสรรหาด้วยพระเมตตาว่าวิชานี้ เป็นวิชาที่ไม่มีผู้อยากเรียน จึงทรงเลือกอาจารย์ที่สอนอยู่แล้วให้ไปเรียนกายวิภาคศาสตร์ที่โรงเรียนแพทย์ที่ปักกิ่งหนึ่งปี แล้วไปต่อที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนอีกหนึ่งปี สำหรับวิชาที่มีผู้อยากไปเรียน เช่น วิชาคลินิก ทรงพิจารณาอย่างละเอียดเพื่อให้ทรงแน่ใจว่าแพทย์ผู้นั้น เมื่อเรียนจบแล้วจะกลับมาช่วยพัฒนาการศึกษาแพทย์ นอกจากนักเรียนทุนมูลนิธิฯ แล้ว คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล ยังได้อาจารย์เป็นแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศอีก คือ นักเรียนทุนส่วนพระองค์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ 5 คน นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง 6 คน นักเรียนทุนกระทรวงธรรมการ 2 คน

 

299 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

ในช่วงเวลาเดียวกัน ทรงขอให้มูลนิธิฯ ช่วยพัฒนาโรงเรียนพยาบาล เพราะการรักษาพยาบาลจะดีไม่ได้ถ้าการสอนพยาบาลยังไม่พัฒนา มูลนิธิฯ จึงให้ความช่วยเหลือในวิธีการเดียวกับการช่วยโรงเรียนแพทย์ ในช่วงแรกส่งครูพยาบาลชุดแรกเข้ามาช่วยจัดหลักสูตรจัดการเรียนการสอน 2 คน ต่อมาชุดที่ 2 เข้ามาแทนอีก 3 คน ครูพยาบาลเหล่านั้นมีความสามารถในการพัฒนาการสอนและการฝึกอบรมนักเรียนพยาบาลมาก แต่มีปัญหาในเรื่องเงินเดือน เพราะครูพยาบาลเหล่านั้นไม่ได้ปริญญา รัฐบาลไทยไม่อาจให้เงินเดือนตามที่ตกลงกันไว้ได้ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ จึงประทานเงินเพิ่มให้อีกเท่าตัวจากเงินเดือนของรัฐบาล ปัญหาที่เรียนและที่อยู่ของพยาบาลนั้น ทรงแก้ปัญหาโดยทรงซื้อโรงเรียนวังหลังจากคณะมิชชันนารี แล้วพระราชทานให้เป็นโรงเรียนพยาบาล และประทานทุนส่วนพระองค์ส่งนักเรียนหญิงไปเรียนพยาบาลที่สหรัฐอเมริกา

ผลของการพัฒนาคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ทำให้โรงพยาบาลศิริราชกลายเป็นโรงพยาบาลที่ทันสมัย มีมาตรฐานการรักษาการพยาบาลที่ดีที่สุดในภาคตะวันออกของโลก และมีมาตรฐานการเรียนแพทย์เท่ากับมาตรฐานของการเรียนการสอนวิชาแพทย์ในโรงเรียนแพทย์ชั้นดีในสหรัฐอเมริกา

มีผู้สำเร็จการศึกษาได้ปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตรุ่นแรก เมื่อ พ.. 2471 พระบาท-สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาให้แพทยศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.. 2473 เป็นพิธีพระราชทานปริญญาครั้งแรกของประเทศไทย ต่อมาใน พ.. 2475 แพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตคนแรกสำเร็จการศึกษา และแพทย์หญิงรุ่นแรกจำนวน 3 คนสำเร็จการศึกษา

ทางด้านคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์นั้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ทรงพัฒนาอาจารย์ด้วยวิธีเดียวกับศิริราช คือ เลือกอาจารย์และนักเรียนทุนที่เรียนอยู่ในต่างประเทศให้รับทุนมูลนิธิฯ ไปศึกษาต่อ จำนวน 6 คน ได้รับปริญญาเอกวิชาเคมี 1 คน คือ ดร.แถบ นีละนิธิ ได้รับปริญญาเอกวิชาฟิสิกส์ 1 คน คือ หลวงพรตพิทยพยัต ได้ปริญญาโท วิชาชีววิทยา 2 คน คือ หลวงศรีสมรรถวิชากิจ และนายศุภชัย วานิชวัฒนา ประทานทุนวิทยาศาสตร์แห่งแพทย์ของพระองค์ท่านให้อาจารย์และนิสิตอีก 6 คน ได้ปริญญาเอก วิชาชีววิทยา 1 คน คือ ดร.คลุ้ม วัชโรบล วิชาเคมี 2 คน คือ ดร.บัวเรศ คำทอง และ ดร.กัลย์ อิสรเสนาฯ ปริญญาโท วิชาฟิสิกส์ คือ ม..รัชฎาภิเศก โสณกุล วิชาเคมี คือ นายทองศุข พงศทัศ พร้อมกันนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับนักปราชญ์ทางภาษาไทย วรรณคดี นิรุกติศาสตร์ เข้ามาสอนในแผนกอักษรศาสตร์ และเปิดสอนวิชาประโยคครูมัธยมอักษรศาสตร์และประโยคครูมัธยมวิทยาศาสตร์ เมื่อ พ.. 2471 ผลของการพัฒนาของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ครั้งนี้ทำให้มาตรฐานการศึกษาในคณะนี้สูงขึ้น จนทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสามารถสอนถึงระดับปริญญาได้ อีก 3 วิชา คือ วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต อักษรศาสตรบัณฑิต และวิทยาศาสตรบัณฑิต บัณฑิตรุ่นแรกรับปริญญาเมื่อ พ.. 2478 และต่อมาได้ขยายหลักสูตรประกาศนียบัตรเภสัชกรรมศาสตร์ เป็นเภสัชศาสตร-บัณฑิต เมื่อสิ้นสัญญากับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เริ่มตั้งคณะทันต-

 

300 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

แพทยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และก่อตั้งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี

การสอนระดับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตเริ่มเมื่อ พ.. 2466 เป็นการสอนระดับปริญญาเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

แพทยศาสตรบัณฑิตรุ่นแรกสำเร็จการศึกษา พ.. 2471 เป็นปริญญาแรกของประเทศไทย

แพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตคนแรกสำเร็จการศึกษา พ.. 2475 เป็นปริญญาเอกปริญญาแรกของประเทศไทย

แพทยศาสตรบัณฑิตหญิงรุ่นแรกของประเทศไทย เรียนสำเร็จ พ.. 2475

ทั้งหมดนี้คือเกียรติประวัติทางการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นโดยพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

การพัฒนาของคณะอักษรศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสามารถพัฒนาการศึกษาในสาขาอื่น พ.. 2478 มีบัณฑิตจบการศึกษาอีก 3 สาขาวิชา คือ วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต อักษรศาสตรบัณฑิต และวิทยาศาสตรบัณฑิต

ครู อบ.ปม. ครู วทบ.ปม. เป็นรากฐานของความเจริญ ของการศึกษาของไทยตั้งแต่ระดับมัธยมจนถึงระดับอุดมศึกษา

นักเรียนทุนของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ได้ดำเนินตามรอยพระยุคลบาทโดยการพัฒนาการศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์สาขาต่าง ๆ ดังนี้

. ทพ.สี สิริสิงห์ นักเรียนทุนส่วนพระองค์ และศาสตราจารย์ หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ ร่วมกันตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์

ดร.ตั้ว ลพานุกรม นักเรียนทุนส่วนพระองค์ 18 ปี หลวงลิปิธรรมศรีพยัตต์ นักเรียนทุนส่วนพระองค์ ศ.จำลอง สุวคนธ์ นักเรียนทุนพระราชมรดก ศ. นพ.อวย เกตุสิงห์ ศิษย์ของพระองค์ เป็นผู้พัฒนาหลักสูตรแพทย์ปรุงยาให้เป็นเภสัชศาสตรบัณฑิต

. นพ.เฉลิม พรมมาส และ ศ. นพ.สวัสดิ์ แดงสว่าง แพทยประกาศนียบัตร นักเรียนทุนส่วนพระองค์ ที่ทรงส่งไปเรียนสาธารณสุขที่มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอบกินส์ ได้ Dr.PH. ทั้ง 2 ท่าน เป็นผู้ก่อตั้งคณะสาธารณสุขศาสตร์ เปิดสอนวิชาสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต เป็นวิชาแรก ต่อมาเปิดสอนปริญญาตรีวิชาสุขาภิบาล วิชาพยาบาลสาธารณสุข ปัจจุบันจัดการสอน ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกทางสาธารณสุขหลายสาขา

แพทย์ที่ได้ทุนมูลนิธิฯ ไปเรียนสาธารณสุขที่สหรัฐอเมริกา และแพทย์รุ่นหลังที่เรียนสาธารณสุขในประเทศไทยเป็นผู้พัฒนากิจการสาธารณสุขของไทย

.. 2485 รัฐบาลตั้งกระทรวงการสาธารณสุขขึ้น เพื่อรวมกำลังในการพัฒนาการบริการการรักษาโรคและการป้องกันโรค ให้ได้ทั่วประเทศไทย

นายแพทย์นิตย์ เวชชวิศิษฏ์ นักเรียนทุนส่วนพระองค์ ได้เป็นอธิบดีกรมการแพทย์ เป็นผู้ดำเนินงานจัดสร้างโรงพยาบาลประจำจังหวัดได้ครบทุกจังหวัด

 

301 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

คุณหญิงจำนง พิณพากย์พิทยเภท พัฒนาการศึกษาพยาบาล จนถึงระดับบัณฑิต

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ประทานเงินจำนวน 1 แสนบาทให้กรมประมง ส่งนักเรียนไปเรียนวิชารักษาสัตว์น้ำ จำนวน 3 คน คือ หลวงจุลชีพพิชาธร ศ.บุญ อินทรัมพรรย์ และ ศ.โชติ สุวัติถี ซึ่งได้กลับมาพัฒนากรมประมง พัฒนาการผสมพันธุ์ปลา และตั้งคณะประมงในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ทรงเป็นประธานกรรมการโรงพยาบาลวชิรพยาบาล ทรงวางแผนที่จะพัฒนาโรงพยาบาลนี้ให้เป็นศูนย์กลางของการศึกษาทางด้านการผดุงครรภ์ การป้องกันโรคและการสุขาภิบาล ทรงร่างแผนผังของโรงพยาบาลใหม่

สำหรับโรงพยาบาลในต่างจังหวัด สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลา-นครินทร์ ได้เสด็จไปเปิดโรงพยาบาลสงขลา และประทานเงินให้ปีละ 5,000 บาท ประทานเงินซื้อเครื่องเอกซเรย์ ให้โรงพยาบาลแมคคอร์มิค ที่เชียงใหม่ และประทานเงินให้จ้างแพทย์อเมริกันมาทำงานที่โรงพยาบาลนี้อีก 1 คน

เมื่อเสด็จนิวัติประเทศไทย หลังจากที่ทรงสำเร็จแพทย์แล้ว ได้ทรงงานที่สำคัญในด้านการศึกษาของประเทศไทยอีกเรื่องหนึ่งคือ ปัญหาของการพัฒนาการศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงพิจารณาปัญหาต่างแล้วทำรายงานเสนอเสนาบดีกระทรวงธรรมการ 2 เรื่อง คือ

1. รายงานความเห็นเรื่องการสำรวจการศึกษาเพื่อประกอบพระบรมราโชบายเรื่องการตั้งมหาวิทยาลัย

2. รายงานความเห็นเรื่องโครงการมหาวิทยาลัย

รายงานทั้งสองนี้เป็นแนวทางที่จะพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่ก้าวหน้าทันสมัยมาก คณะกรรมการดำริรูปการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นภายหลัง ได้ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งนั้น แม้ภายหลังอีก หลายสิบปีต่อมา ก็ยังใช้เป็นหลักในการพัฒนามหาวิทยาลัย เช่น เรื่องมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล เป็นต้น

เมื่อมีการขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษา สาขาแพทยศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ สาขาอักษรศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์ และสาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ นักเรียนทุนของพระองค์ท่าน และอาจารย์ซึ่งเป็นผลิตผลจากการพัฒนาการศึกษาแพทย์ของสมเด็จพระบรม-ราชชนก ได้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาทั้งสิ้น การอุดมศึกษาของไทยเจริญขึ้นเพราะสมเด็จ-พระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม บรมราชชนก จึงเป็นพระบิดาของการแพทย์แผนปัจจุบัน พระบิดาของการสาธารณสุข และพระบิดาของการอุดมศึกษาของประเทศไทยอย่างแท้จริง

 

302  ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเปนที่สอง

ประโยชน์แห่งเพื่อนมนุษเป็นที่กิจที่หนึ่ง

ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง

ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพย์ไว้ให้บริสุทธิ

 

 

303 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

303